วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

The Project Series : 1 Day in Bangkok&Suburb ตอน ลมหายใจของภาพยนตร์ไทย


The Project Series คือโปรเจ็คพิเศษเพื่อการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ซึ่งครั้งนี้ได้นำเสนอในเรื่องของการท่องเที่ยวใน 1 วันกับแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ใน กทม.และพื้นที่ปริมณฑล โดยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์ โดดเด่นหรือมีประวัติที่น่าสนใจ

คงเป็นที่ยอมรับอย่างแน่นอนแล้วว่าภาพยนตร์ไทยมีประวัติศาสตร์มายาวนาน โดยภาพยนตร์ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของสยาม (ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น "ประเทศไทย") คือเรื่อง นางสาวสุวรรณ โดยยูนิเวอร์แซลจากฮอลลีวู้ดเป็นผู้ผลิต และภาพยนตร์เรื่อง โชคสองชั้น ซึ่งเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่มีคนไทยเป็นผู้ผลิต และเป็นต้นกำเนิดของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมาจนถึงปัจจุบัน




ต้องบอกก่อนว่า การท่องเที่ยวในครั้งนี้มีต้นเหตุมาจาก 2 เหตุผล ประการแรกคือความอยากท่องเที่ยวแต่มีเวลาไม่มาก งบประมาณมีจำกัด และประการที่สองคือท่านแม่เห็นคนไปเที่ยวแล้วเอามาลงเฟสบุ้ค เลยอยากมาเที่ยวแต่ไม่รู้ว่าจะสวยดังที่เห็นหรือเปล่า นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางในครั้งนี้

อาคารรูปแบบยุโรป พร้อมด้วยประตูเมืองทรงไทย ริมถนนพุทธมณฑลสาย 5
สำหรับหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เป็นส่วนหนึ่งหอศิลป์ (หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร) ในกรุงเทพมหานคร โดยหอภาพยนตร์ตั้งอยู่ริมถนนพุทธมณฑลสาย 5 ติดกับสำนักช่างสิบหมู่ ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนจากระยะไกล โดยอาคารรูปแบบยุโรป พร้อมด้วยประตูเมืองทรงไทยตั้งอยู่ริมถนน โดยสามารถเดินทางตามเส้นทางปิ่นเกล้า-นครชัยศรี หรือมาจากศาลายาได้เช่นกัน

สิ่งแรกที่เข้าไปในพื้นที่หอภาพยนตร์แล้วต้องสะดุดตาเห็นจะเป็นแบบจำลองศาลาเฉลิมไทย โรงภาพยนตร์เก่าแก่แห่งหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็น "ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์" บนถนนราชดำเนิน นอกจากนี้ยังมีประวัติศาลาเฉลิมไทยให้ได้ศึกษากันด้วย

แบบจำลองอาคารศาลาเฉลิมไทย
โดยศาลาเฉลิมไทยก่อสร้างในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี มีความประสงค์ให้เป็นโรงละครแห่งชาติ และมีรูปแบบของอาคารกลมกลืนกับอาคารอื่นที่สร้างขึ้นริมถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งแต่เดิมเป็นอาคารว่างเปล่าแล้วเป็นโกดังเก็บผ้าของทางราชการ ต่อมาบริษัทศิลป์ไทยได้ขอเช่าพื้นที่ ริเริ่มปรับปรุงต่อเติมเป็นสถานบันเทิง ซึ่งเปิดดำเนินการเป็นสถานที่แสดงละครเวที ก่อนจะเปลี่ยนเป็นโรงภาพยนตร์ในเวลาต่อมา

นอกจากแบบจำลองศาลาเฉลิมไทยแล้ว ยังมีการโชว์แบบจำลองโรงภาพยนตร์ซึ่งเป็นลักษณะของโรงภาพยนตร์ในต่างจังหวัดในชื่อ "ศรีศาลายา" ไม่อยากจะบอกว่าเป็นอดีตศาลพระภูมิของหอภาพยนตร์มาก่อน แต่เห็นว่าปลดระวางแล้ว จึงนำมาโชว์ให้เห็นความสวยงานของรูปแบบโรงภาพยนตร์ในต่างจังหวัด

แบบจำลองโรงหนังศรีศาลาสมัยก่อน

จุดบริการข้อมูลนักท่องเที่ยว

ด้านหลังของจุดบริการข้อมูลนักท่องเที่ยว จำลองโรงหนังโบราณ
สำหรับที่หอภาพยนตร์แห่งนี้ สามารถเข้าชมฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งควรสอบถามติดต่อกับเจ้าหน้าที่บริเวณทางเข้า เนื่องจากมีบางพื้นที่อาจมีค่าใช้จ่าย เช่น โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา เป็นต้น นอกจากนี้ในช่วงวันหยุดเช่น วันเสาร์และวันอาทิตย์ รวมไปถึงวันหยุดราชการ จะมีเจ้าหน้าที่มาคอยอธิบายให้ความรู้ในพื้นที่บริเวณต่างๆ ภายในหอภาพยนตร์

ทันทีที่มาถึงหอภาพยนตร์ สิ่งแรกที่ต้องสะดุดสายตาทุกคู่ที่มาเยือนคือหัวรถจักรไอน้ำที่จอดสงบนิ่งตระหง่านตระการตา อยู่บริเวณทางเข้า พร้อมด้วยประติมากรรมรูปปั้นในลักษณะของเจ้าหน้าที่รถไฟกำลังปฏิบัติหน้าที่

ซึ่งหัวรถจักรไอน้ำนี้ เป็นหัวรถไฟไอน้ำที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง หัวรถจักรไอน้ำก็ถูกนำมาใช้ในกิจการรถไฟของไทย โดยศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาได้บริจาคหัวรถจักรไอน้ำให้แก่หอภาพยนตร์เพื่อรำลึกถึงเมื่อในอดีตคราวที่รถไฟและประวัติศาสตร์ภาพยนตร์มีความเกี่ยวเนื่องกัน 

หัวรถจักรไอน้ำโบราณ

อีกด้านหนึ่งมีการนำป้ายสถานี "ศีนิมา" ซึ่งหากมองดูดีจะเห็นว่าชื่อภาษาอังกฤษเขียนว่า "CINEMA" ซึ่งแปลว่าภาพยนตร์ ดังนั้นสถานีแห่งนี้จึงถือได้ว่าเป็นสถานภาพยนตร์นั่นเอง

สถานีภาพยนตร์
นอกจากนี้อีกด้านยังมีรูปปั้นจำลองของ บัสเตอร์ คีตัน นักแสดงหนังเงียบในยุคอดีต ซึ่งรูปปั้นจำลองการแสดงของคีตันในบทบาทเจ้าหน้าที่รถไฟ

บัสเตอร์ คีตัน ในบทบาทเจ้าหน้าที่รถไฟ
 ในบริเวณใกล้ๆ กับหัวรถจักรไอน้ำยังมีประติมากรรมที่สะดุดตาไม่ใช่หน่อย โดยประกอบไปด้วยรูปปั้นจำนวน 5 ตัว ซึ่งเป็นการจำลองเบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง "ราชินีแห่งซานคอซซาร์" โดยเป็นภาพยนตร์ไทยพูดเสียงในฟิล์มเรื่องแรก

แบบจำลองการถ่ายทำภาพยนตร์ไทยพูดเสียงในฟิล์มเรื่องแรก
อีกหนึ่งจุดเด่นที่เรียกว่าต้องสะดุดตากับสีสันเหลืองสดโดดเด่นกว่าอาคารอื่นๆ ในบริเวณพื้นที่นั้นกับ "โรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง" โดยเป็นอาคารจำลอง ซึ่งโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงเป็นบริษัทสร้างภาพยนตร์ไทยแห่งเดียวที่ดำเนินการอัดเสียงลงแผ่นฟิล์มขณะถ่ายทำพร้อมกัน (Sound on Film) จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงถ่ายภาพยนตร์ก็ต้องเปลี่ยนสภาพไปเป็นโรงภาพยนตร์ "ศาลาศรีกรุง" ก่อนที่จะเลิกกิจการไป

แบบจำลองอาคารโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง

รูปปั้นจำลองการถ่ายทำภาพยนตร์ในยุคอดีต

ยานพาหนะที่ใช้เดินทางไปถ่ายทำในสถานที่ต่าง

ฉากประตูเมืองและอุปกรณ์การถ่ายทำภาพยนตร์
อีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือบริเวณลานน้ำพุ ซึ่งถูกจัดในรูปแบบเมืองในยุโรปโบราณ โดยจุดเด่นของโซนนี้คืออาคารที่มีชื่อว่า Kinetoscope เป็นการจำลองอาคารที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นโรงภาพยนตร์แรกของโลก เนื่องจากอาคารที่มีชื่อว่า Kinetoscope เปิดให้บริการชมหนังสั้นแบบตู้หยอดเหรียญผ่านเครื่อง Kinetoscope นอกจากนี้บริเวณมุมของอาคารมีประติมากรรรูปปั้นจำลองภาพยนตร์เรื่อง The Kid ภาพยนตร์เงียบที่มีดาราดังอย่าง ชาร์ลีส์ แชปลินและ แจ็กกี้ คูแกน นักแสดงเด็กที่ดังที่สุดคนหนึ่งของโลก

อาคาร Kinetoscope และรูปปั้นจำลอง ชาร์ลีส์ แชปลินและ แจ็กกี้ คูแกน

โรงหนังนิเกลโลเดียน (Nickelodeon) โรงภาพยนตร์ยุคแรกของโลก


หลังจากเดินชมบริเวณลานกว้างแล้ว เมื่อเดินลึกเข้าไปอีกเล็กน้อยจะพบกับอาคารรูปทรงประหลาดมีสีดำทั้งอาคาร เมื่อเข้ามาดูใกล้ๆ จะได้รับข้อมูลว่าเป็น อาคารจำลองโรงถ่ายภาพยนตร์โรงแรกของโลกชื่อว่า แบล็คมารีอา (Black Maria) ซึ่งถูกสร้างโดยโทมัส อัลวา เอดิสัน ผู้คิดค้นแสงสว่างจากหลอดไฟ โดยอาคารของจริงโครงสร้างทำด้วยไม้สีดำทั้งหลัง มีแกนหมุนที่สามารถหมุนได้รอบเพื่อติดตามการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ และมีหลังคาเปิดได้เพื่อใช้ในการถ่ายทำการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์

อาคารจำลองแบล็คมารีอา (Black Maria)
นอกจากนี้ด้านข้างอาคารจำลองยังมีประติมากรรมรูปปั้นจำลองของ จอร์จ อีสต์แมน ผู้ผลิตฟิลม์ภาพยนตร์เจ้าแรก ซึ่งเรารู้จักผลิตภัณฑ์ของเขาในนามโกดัก (KODAK) และ โทมัส อัลวา เอดิสัน ผู้คิดค้นแสงสว่างจากหลอดไฟ โดยทั้งคู่ได้ริเริ่มและพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในยุคแรก

รูปปั้นจำลอง จอร์จ อีสต์แมน และ โทมัส อัลวา เอดิสัน
เมื่อเดินลึกเข้าไปอีกหน่อยก็จะพบกับโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กชื่อ "ศรีศาลายา" ซึ่งปัจจุบันยังคงจัดฉายภาพยนตร์เก่าๆ เพื่อการอนุรักษ์ไว้ โดยในวันธรรมดา (วันจันทร์-วันศุกร์) จะมีการจัดฉายภาพยนตร์เพียงรอบเดียวในเวลา 17.30 น. ส่วนวันหยุดราชการ (วันเสาร์-วันอาทิตย์) และวันหยุดนักขัตฤกษ์ จะมีการจัดฉายภาพยนตร์ถึง 2 รอบ โดยเริ่มตั้งแต่ 13.00 น. และในเวลา 15.00 น. 

โรงภาพยนตรศรีศาลายา

โปรแกรมฉายภาพยนตร์

ใบปิดหนังอยู่รอบพื้นที่
บริเวณด้านหน้าโรงภาพยนตร์ศรีศาลายาเป็นที่ตั้งของ ลานดารา โดยบริเวณลานแห่งนี้จะมีลักษณะเหมือนกับถนนสายฮอลลีวู้ดหรือที่เราเรียกกันว่า Hollywood Walk of Fame โดยที่ลานแห่งนี้จะมีการสลักชื่อรวมถึงการประทับรอยมือรอยเท้าของดาราที่ได้รับเชิญจากหอภาพยนตร์ เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้แฟนภาพยนตร์ในรุ่นหลังได้จดจำ

รอยประทับมือและเท้าของดาราหลากหลายท่าน
ก่อนกลับอย่าลืมแวะชมประวัติของหนังขายยา โดยที่หอภาพยนตร์แห่งนี้ยังได้เก็บรถหนังขายยาไว้ด้วย ซึ่งรถคันนี้มีหน้าที่ในการตระเวนขายยาพร้อมกับฉายหนังกลางแปลง รวมไปถึงยังเป็นส่วนหนึ่งของห้องสำหรับพากษ์เสียงสดสำหรับหนังกลางแปลงในอดีต โดยปัจจุบันรถคันนี้ไม่ได้ใช้งานตามปกติ และยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้ถึงรูปแบบแบบหนังขายยา

รถหนังขายยาที่ยังหลงเหลืออยู่
หอภาพยนตร์แห่งนี้ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้ กทม.และน่าสนใจที่สุดแห่งหนึ่ง สามารถเดินทางได้ในระยะเวลาเพียงไม่นาน ที่สำคัญยังทำให้ได้รู้ถึงประวัติศาสตร์การสร้างอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทยอีกด้วย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น