หากจะพูดถึงการท่องเที่ยวในกรุงเทพฯแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นการท่องเที่ยวในรูปแบบของการทำบุญ โดยเฉพาะการทำบุญ 9 วัด ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในกรุงเทพฯ หากเราจะพาเที่ยว 9 วัดเหมือนที่ทุกคนเคยเที่ยวมาก่อน ก็คงจะไม่แปลกสำหรับ Journal Mark
![]() |
แผนที่แม่น้ำเจ้าพระยาโบราณ |
สำหรับในครั้งนี้เราจะพาทุกท่าน ย้อนกลับสู่กรุงธนบุรีเมื่อครั้งสร้างเมือง ด้วยการพาเที่ยวชม 9 วัดสำคัญในอาณาจักร "กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร" ซึ่งความพิเศษของ 9 วัดนี้ จะเกี่ยวข้องกับ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช นั่นเอง โดยประกอบไปด้วย วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร, วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร, วัดอัมรินทราราม วรวิหาร, วัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร, วัดเจ้าอาม, วัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร, วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร, วัดอินทารามวรวิหาร และ วัดราชคฤห์วรวิหาร
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า แม่น้ำเจ้าพระยาในอดีตมีเส้นทางที่เลี้ยวลดคดเคี้ยวมากมาย ยากแก่การสัญจรทางน้ำ จึงมีการขุดคลองลัดขึ้น ซึ่งในเวลาต่อมาคลองลัดเหล่านี้ ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน ในขณะที่แม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า ก็มีลักษณะแคบลงจนกลายเป็นคลองที่สำคัญในปัจจุบันนี้ อาทิเช่น คลองบางกอกน้อย, คลองบางกอกใหญ่, คลองชักพระ เป็นต้น
วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
![]() |
พระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร |
วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร เป็นวัดที่มีความสำคัญวัดหนึ่งของประเทศไทย โดยชาวบ้านมักนิยมเรียกวัดแห่งนี้ว่า "วัดแจ้ง" สำหรับสาเหตุที่ทำให้ชื่อวัดแจ้งเป็นที่รู้จักเป็นส่วนมาก นั่นเป็นเพราะมีเรื่องเล่าขานกันมาว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยาหรือ "กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา" มาตั้ง ณ.กรุงธนบุรีใน พ.ศ. 2310 ได้เสด็จมาถึงหน้าวัดนี้ตอนรุ่งแจ้ง จึงพระราชทานชื่อใหม่ว่าวัดแจ้ง แต่ภายหลังปรากฎหลักฐานว่าวัดนี้ น่าจะชื่อวัดแจ้งตั้งแต่โบราณนานมาแล้ว ซึ่งแต่เดิมวัดแจ้งถูกสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยน่าจะมีชื่อว่า "วัดมะกอก" และจึงเป็นที่มีของคำว่า "บางกอก" จนเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติในนาม "Bangkok" แม้จะมีการย้ายราชธานีมาที่กรุงเทพมหานคร ทุกคนก็ยังติดปากกับคำว่า "บางกอก" หรือ "Bangkok"
![]() |
พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก |
จุดเด่นอย่างหนึ่งที่เรียกว่าเป็นเอกลักษณ์ประจำวัดอรุณฯ นั่นก็คือ "ยักษ์วัดแจ้ง" ซึ่งยักษ์วัดแจ้งนั้นมีหน้าที่หลักในการเฝ้าพระอุโบสถ อันเนื่องมาจากในอดีตได้มีพระพุทธรูปสำคัญถึง 2 องค์ดังที่กล่าวไปแล้วประดิษฐานที่พระอุโบสถนี้
โดยยักษ์วัดแจ้งมีด้วยกัน 2 ตน ทั้ง 2 ตนมีอาวุธประจำกายคือตะบอง ตนที่มีรูปกายสีขาวมีชื่อว่า "สหัสเดชะ" ส่วนตนที่มีรูปกายสีเขียวมีชื่อว่า "ทศกัณฐ์" โดยมีเรื่องเล่า แต่เดิมยักษ์เหล่านี้มีชีวิตเดินไปมาได้ ซึ่งยักษ์วัดแจ้งนั้นมีเพื่อนสนิทเป็นยักษ์วัดโพธิ์ ซึ่งอยู่ฝั่งตรง้ามแม่น้ำเจ้าพระยา วันหนึ่งยักษ์วัดโพธิ์เกิดเดือดร้อนเรื่องเงิน ก็เลยข้ามแม่น้ำมาขอยืมเงินจากยักษ์วัดแจ้ง
ด้านยักษ์วัดแจ้งก็พอมีอันจะกินอยู่บ้าง แถมสปอร์ตรักเพื่อนพ้องก็เลยให้ยืมเงินไป ทว่าเวลาเนิ่นนานเข้ายักษ์วัดโพธิ์ก็ไม่ยอมเอามาคืนทั้งที่ไม่ได้คิดดอกเบี้ยอะไรเลย ยักษ์วัดแจ้งจึงข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไปหายักษ์วัดโพธิ์ แต่ยักษ์วัดโพธิ์กลับไม่คืนเงินแถมทำท่าทางไล่ยักษ์วัดแจ้งกลับไปอีก ความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนจึงขาดสะบั้นลง กลายเป็นความสัมพันธ์แบบเจ้าหนี้และลูกหนี้ เมื่อลูกหนี้คิดจะเบี้ยวเจ้าหนี้อย่างยักษ์วัดแจ้งจึงต้องสำแดงเดชด้วยการแปลงร่างเป็นยักษ์ที่มีขนาดร่างกายใหญ่โตมโหฬาร
ด้านยักษ์วัดโพธิ์เมื่อมีคนมาท้าตีท้าต่อยถึงถิ่นมีหรือที่จะยอมได้ ยักษ์วัดโพธิ์จึงแปลงร่างกายให้มีขนาดใหญ่โตเช่นกัน แต่แม้ว่ายักษ์วัดโพธิ์จะแปลงร่างกายให้ใหญ่โตแต่ก็ยังเล็กว่ายักษ์วัดแจ้งอยู่ ทำให้ยักษ์วัดแจ้งมีพละกำลังที่มากกว่า ทว่ายักษ์วัดโพธิ์ก็ได้เปรียบในเรื่องความแคล้วคล่องว่องไวที่เหนือกว่ายักษ์วัดแจ้ง
ทั้งยักษ์วัดโพธิ์และยักษ์วัดแจ้งต่างสู้กันเพื่อให้รู้แพ้รู้ชนะ แต่ก้ไม่มีฝ่ายไหนเพลี่ยงพล้ำ และด้วยขนาดร่างกายที่แปลงกายจนใหญ่โตก็นำความเดือดร้อนมาสู่สรรพสัตว์ โดยเฉพาะมนุษย์ทั้งหลาย พระศิวะได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือจากมนุษย์ จึงสั่งให้ทั้งยักษ์วัดโพธิ์
และยักษ์วัดแจ้งลดขนาดร่างกายลงมาเป็นปกติ และสาปให้กลายเป็นหินไปยืนเฝ้าหน้าพระอุโบสถภายในวัดแจ้งและวัดโพธิ์ โดยพื้นที่ที่ยักษ์วัดแจ้งและยักษ์วัดโพธิ์ต่อสู่กันนั้น กลายเป็นพื้นที่เตียนโล่งต้นไม้ใหญ่ไม่เหลือแม้แต่ต้นเดียว ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนั้นว่า "ท่าเตียน" เป็นต้นมา
โดยยักษ์วัดแจ้งมีด้วยกัน 2 ตน ทั้ง 2 ตนมีอาวุธประจำกายคือตะบอง ตนที่มีรูปกายสีขาวมีชื่อว่า "สหัสเดชะ" ส่วนตนที่มีรูปกายสีเขียวมีชื่อว่า "ทศกัณฐ์" โดยมีเรื่องเล่า แต่เดิมยักษ์เหล่านี้มีชีวิตเดินไปมาได้ ซึ่งยักษ์วัดแจ้งนั้นมีเพื่อนสนิทเป็นยักษ์วัดโพธิ์ ซึ่งอยู่ฝั่งตรง้ามแม่น้ำเจ้าพระยา วันหนึ่งยักษ์วัดโพธิ์เกิดเดือดร้อนเรื่องเงิน ก็เลยข้ามแม่น้ำมาขอยืมเงินจากยักษ์วัดแจ้ง
![]() |
ยักษ์วัดแจ้ง "ทศกัณฐ์" |
![]() |
ยักษ์วัดแจ้ง "สหัสเดชะ" |
ทั้งยักษ์วัดโพธิ์และยักษ์วัดแจ้งต่างสู้กันเพื่อให้รู้แพ้รู้ชนะ แต่ก้ไม่มีฝ่ายไหนเพลี่ยงพล้ำ และด้วยขนาดร่างกายที่แปลงกายจนใหญ่โตก็นำความเดือดร้อนมาสู่สรรพสัตว์ โดยเฉพาะมนุษย์ทั้งหลาย พระศิวะได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือจากมนุษย์ จึงสั่งให้ทั้งยักษ์วัดโพธิ์
และยักษ์วัดแจ้งลดขนาดร่างกายลงมาเป็นปกติ และสาปให้กลายเป็นหินไปยืนเฝ้าหน้าพระอุโบสถภายในวัดแจ้งและวัดโพธิ์ โดยพื้นที่ที่ยักษ์วัดแจ้งและยักษ์วัดโพธิ์ต่อสู่กันนั้น กลายเป็นพื้นที่เตียนโล่งต้นไม้ใหญ่ไม่เหลือแม้แต่ต้นเดียว ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนั้นว่า "ท่าเตียน" เป็นต้นมา
นอกจากเรื่องของยักษ์แล้ว วัดอรุณฯ ยังมีประติมากรรมรอบกำแพงอีกด้วย โดยเฉพาะพระพุทธรูปจำนวนมากมายที่ถูกนำมาประดิษฐานไว้รอบกำแพงพระอุโบสถ และภาพวาดฝาผนังในพระอุโบสถ
![]() |
พระพุทธรูปเรียงรายรอบกำแพงพระอุโบสถ |
![]() |
อนุสาวรีย์รัชกาลที่ 2 |
เป็นที่น่าเสียดายอยู่อย่าง เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระปรางค์องค์ใหญ่ 1 ในไฮไลท์
สำคัญของวัดอรุณฯ และถือเป็น 1 แลนด์มาร์กที่สำคัญของประเทศไทย ทำให้พระปรางค์วัดอรุณฯ ยังไม่สวยงามอย่างที่เคยสวยงามมาก่อน แต่ก็ยังเปิดให้นักท่องเที่ยวได้ขึ้ไปบนพระปรางค์ แต่สำหรับครั้งนี้ขอยังไม่ขึ้นดีกว่าเพราะขึ้นไปก็จะเจอแต่วิวโครงไม้ไผ่ ซึ่งหากอยากชมความงานของพระปรางค์วัดอรุณฯ สามารถย้อนกลับขึ้นไปชมภาพเปิดของบทความนี้ได้เลย![]() |
พระปรางค์วัดอรุณฯ กำลังบูรณะปฏิสังขรณ์ |
![]() |
หลวงพ่อรุ่งอรุณ |
การเดินทาง
สำหรับวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร อยู่ในเขตบางกอกใหญ่ ซึ่งทาเข้าวัดจะติดกับหอประชุมกองทัพเรือบนถนนวังเดิม ซึ่งการเดินทางมาที่วัดแห่งนี้แนะนำว่า ควรมาทางเรือหรือรถสาธารณะจะสะดวกกว่า เนื่องจากเป็นวัดที่ไม่มีที่จอดรถหรือมีจำนวนจำกัด ซึ่งส่วนใหญ่จะนำรถมาจอดริมถนนอรุณอัมรินทร์แล้วเดินตัดเข้าไปในวัดอีกทีหนึ่ง
เดินทางไปกันต่อที่...
วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร
กรุงธนบุรีถือได้ว่ามีวัดอรุณราชวรารามเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นการเดินทางช่วงต่อไปของเรานั้น เราจะออกเดินทางไปทางด้านคลองบางกอกน้อย โดยเส้นทางนี้วัดแรกที่จะต้องผ่านเป็นวัดที่ทุกท่านรู้จักกันเป็นอย่างดี ซึ่งวัดนี้มีพระเกจิอาจารย์ดังอย่าง "สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี" เคยจำวัดอยู่ที่วัดนี้ ที่สำคัญพระสมเด็จฯ ที่นี่ขึ้นชื่อว่า เป็นสุดยอดแห่งพระเครื่องเลยก็ว่าได้ เพราะวัดแห่งนี้คือ "วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร"
![]() |
พระอุโบสถสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 |
![]() |
พระประธานยิ้มรับฟ้า |
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระราชดำริต่อ
เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในการสังคายนาพระไตรปิฎก และต่อมาเมื่อมีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดบางหว้าใหญ่ก็ได้มีการขุดค้นพบระฆังลูกหนึ่ง ซึ่งได้โปรดเกล้าให้นำระฆังลูกนั้นไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้วฯ) โดยทรงสร้างระฆังชดเชยให้วัดบางหว้าใหญ่จำนวน 5 ลูก จากนั้นยังได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร"
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าให้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดราชคัณฑิยาราม" แต่เนื่องจากชื่อใหม่ไม่เป็นที่นิยม ชาวบ้านจึงยังคงเรียกชื่อวัดระฆังต่อมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากในส่วนของพระวิหารสมเด็จพระพุฒาจารย์โตที่มีผู้คนจำนวนมากนิยมไปเที่ยวชมสัการะแล้ว ตัวพระอุโบสถก็น่าสนใจเพราะเป็นพระอุโบสถที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ที่สำคัญยังเป็นที่ประดิษฐานพระประธานที่มีชื่อว่า "พระประธานยิ้มรับฟ้า"
สำหรับสาเหตุที่พระประธานมีชื่อแปลกประหลาดนั่นเป็นเรื่องที่เล่าขานกันมานานแล้วว่า ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินที่วัดระฆังโฆสิตาราม โดยมีพระราชดำรัสว่า
" ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆังฯ พอเข้าประตูโบสถ์พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที "
กับทั้งยังได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์ และมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกแด่พระประธาน อันเป็นเครื่องหมายแห่งความพอพระราชหฤทัยพระพุทธรูปองค์นี้ที่ไม่มีนามเฉพาะ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวบ้านขนานนามพระประธานองค์นี้ว่าว่า "พระประธานยิ้มรับฟ้า"
ในบริเวณท่าน้ำของทางวัดฯ ยังได้จัดเป็นสถานที่สำหรับทำบุญปล่อยนก ปล่อยปลา ให้อาหารสัตว์ต่างๆ เป็นต้น ยิ่งช่วยให้วัดระฆังโฆสิตารามมีความร่มรื่นร่มเย็นเป็นที่พักพิงของสรรพชีวิตทั้งมวล
![]() |
บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา |
![]() |
หลายคนนิยมทำบุญปล่อยสัตว์และให้อาหารสัตว์บริเวณนี้ |
การเดินทาง
วัดระฆังโฆสิตาราม ตั้งอยู่บนถนนอรุณอัมรินทร์ โดยสามารถใช้รถยนต์ส่วนตัวเดินทางมาได้อย่างสะดวก แต่ต้องบอกว่าการจราจรบริเวณนี้ค่อนข้างจะติดขัดมาก ซึ่งหากใช้การเดินทางทางเรือหรือรถสาธารณะจะสะดวกกว่า ภายในวัดมีที่จอดรถเป็นสัดส่วนโดยมีการคิดบริการค่าจอดรถด้วย
เดินทางไปกันต่อที่...
วัดอมรินทรารามวรวิหาร
![]() |
พระอุโบสถหลังใหญ่ได้รับการบูรณะหลังเสียหายหนักจากสงคราม |
![]() |
พระประธานภายในอุโบสถหลังใหญ่ |
ฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งประกอบไปด้วยอังกฤษและสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ได้ส่งเครื่องบินรบมาทิ้งระเบิดตามจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เช่น สถานีรถไฟบางกอกน้อย จึงเป็นเหตุให้วัดอมรินทรารามซึ่งอยู่ใกล้เคียงได้รับความเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะโบสถ์หลังใหญ่ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก
เมื่อสิ้นสุดสงครามมหาเอเชียบูรพา การบูรณะปฏิสังขรณ์จึงได้เริ่มขึ้นโดยพบว่า ตัวโบสถ์น้อยได้รับความเสียหายน้อยมาแต่เศียรของหลวงพ่อโบสถ์น้อยได้หักพังลงมาและมีรอยร้าว จึงเริ่มดำเนินการจัดงานต่อเศียรแต่ไม่สามารถต่อกลับเข้าไปได้ จึงได้ปั้นเศียรขึ้นใหม่แต่ยังคงเค้าเศียรเดิม และยังได้บูรณะปฏิสังขรณ์อุโบสถหลวงพ่อโบสถ์น้อยขึ้นมาใหม่ด้วย
![]() |
โบสถ์น้อย |
![]() |
หลวงพ่อโบสถ์น้อย |
นอกจากหลวงพ่อโบสถ์น้อยแล้วยังมีมณฑปพระพุทธบาทที่ถือเป็นสถานท่องเที่ยวที่สำคัญของวัดอมรินทราราม แต่มณฑปหลังนี้จะเปิดเฉพาะงานประจำปีของวัดและในโอกาสพิเศษเท่านั้น ซึ่งปกติจะไม่เปิดให้เข้าชม
![]() |
มณฑปพระพุทธบาท |
การเดินทาง
วัดอมรินทรารามวรวิหาร ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังโรงพยายาลศิริราช สามารถเดินทางผ่านโรงพยาบาลศิริราชได้หรือสามารถมาทางซอยวิเศษการ จุดสังเกตง่ายๆ คือวัดอยู่อยู่ติดกับสะพานอรุณอัมรินทร์ หากใครเดินทางมาจากแยกอรุณอัมรินทร์สามารถลงจากสะพานเพื่อเข้าวัดได้เลย โดยวัดมีที่จอดรถจำนวนจำกัด แต่สามารถจอดรถได้บริเวณริมถนนรอบวัด ซึ่งมีการคิดบริการค่าจอดรถด้วย
เดินทางไปกันต่อที่...
วัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร
![]() |
พระอุโบสถ |
ย้อนกลับไปในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่เพิ่งเริ่มก่อร่างสร้างเมือง เหล่าชาวพม่ารามัญที่เคยเข้าตีกรุงศรีอยุธยาจนแตกก็ยังไม่ไปไหนไกล พร้อมที่จะเข้าโจมตีกรุงธนบุรีเพื่อไม่ให้สยาม (ชื่อประเทศไทยในเวลานั้น) สามารถรวมตัวเป็นปึกแผ่นได้ ดังนั้นจึงมีการกวาดล้างค่ายทหารของเหล่าพม่ารามัญที่ยังซ่องสุมกำลังรอจังหวะเข้าตีกรุงธนบุรี
โดยวัดทองแห่งนี้เป็นสถานที่ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระราชดำรัสให้นำเชลยศึกพม่าไปประหารชีวิตเสียให้สิ้น จนวัดทองแห่งนี้กลายเป็นลานประหารเชลยศึกพม่า ครั้งต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระราชดำริให้สถาปนาขึ้นใหม่ทั้งพระอารามพร้อมทั้งยังได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร"
จุดที่น่าสนใจของวัดสุวรรณารามแห่งนี้คือภายในพระอุโบสถ เนื่องจากมีการวาดจิตรกรรมฝาพนังไว้อย่างวิจิตรบรรจงโดยช่างผู้ชำนาญ นอกจากภาพจิตรกรรมฝาผนังแล้วยังเป็นที่ประดิษฐานพระประธานซึ่งเป็นพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย เชื่อว่าน่าจะเป็นพระพุทธรูปในสมัยสุโขทัย โดยพระประธานองค์นี้มีนามว่า "พระศาสดา"
![]() |
ภายในพระอุโบสถ |
วัดสุวรรณาราม ราชวรวิหารเป็นที่อยู่ริมคลองบางกอกน้อยสามารถเดินทางได้ทางเรือ โดยท่าเรือวัดสุวรรณฯ ยังเป็นที่ทำบุญให้อาหารปลาอีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางได้ด้วยรถยนต์ โดยทางเข้าวัดสุวรรณฯ อยู่บริเวณสี่แยกบางขุนนนท์เป็นทางเดียวกับที่ทำการเขตบางกอกน้อย จากเท่าที่เห็นที่จอดรถทางวัดมีจำนวนจำกัด ดังนั้นควรเดินทางด้วยทางเรือหรือรถสาธารณะดีกว่า
เดินทางไปกันต่อที่...
วัดเจ้าอาม
สำหรับวัดต่อจากนี้ไม่ใช่วัดที่อยู่ติดริมน้ำดังเช่นวัดที่ร่วมสมัยเดียวกัน เนื่องจากเป็นวัดที่สร้างขึ้นมาใหม่ไม่ใช่การบูรณะปฏิสังขรณ์วัดเก่า แต่แม้ว่าวัดนี้จะไม่ใช่วัดที่อยู่ติดริมน้ำแต่ก็อยู่ใกล้กับคลองชักพระ ซึ่งเชื่อมต่อมาจากคลองบองกอกน้อยนั่นเอง โดยวัดแห่งนี้เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงอย่างมากในปัจจุบัน นั่นก็คือ "วัดเจ้าอาม"
![]() |
รูปปั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช |
ทว่าการก่อสร้างวัดเจ้าอามนั้นกลับสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชต้องเสด็จออกไปปราบปรามชุมนุมข้าศึกต่างๆ เป็นระยะเวลายาวนาน ครั้นพอเสร็จสิ้นศึกนี้ก็มีอันต้องเสด็จไปรับศึกใหม่อยู่เนืองๆ จึงขาดช่วงการก่อสร้างจนกระทั่งมีการผลัดแผ่นดินเข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์
![]() |
พระประธานในอุโบสถ |
ต่อมาในยุคจอมพลประภาส จารุเสถียร สมัยที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้อำนายการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ ได้นำกลองขนาดใหญ่มาถวายที่วัดเจ้าอาม พร้อมทั้งนำต้นศรีมหาโพธิ์, ต้นสาระที่เอกอัครราชทูตแห่งอินเดีย นำมาจากพุทธคยาประเทศอินเดีย มาปลูกที่วัดเจ้าอามนี้ นอกจากนี้ยังได้บูรณะปฏิสังขรณ์พระปรางค์วัดเจ้าอาม ที่ชำรุดทรุดโทรมให้มีสภาพที่มั่นคงสวยงามโดยรักษาทรวดทรงของเก่าไว้ทุกประการ
จุดที่สำคัญของวัดนี่คือพระปรางค์อันเป็นที่เก็บอัฐิของพระสนมอามหรือเจ้าอาม อันเป็นต้นกำเนิดของวัดนี้ โดยพระปรางค์องค์นี้ตั้งโดดเด่นอยู่ด้านข้างพระอุโบสถ ว่ากันว่าในวันสมโภชพระปรางค์ จอมพลประภาส จารุเสถียร ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ที่ยอดพระปรางค์อีกด้วย
![]() |
พระปราค์ที่เก็บอัฐิของพระสนมอามหรือเจ้าอาม |
การเดินทาง
วัดเจ้าอามตั้งอยู่บนถนนบางขุนนนท์ ซึ่งสามารถเดินทางได้สะดวกทั้งรถยนต์ส่วนตัวและรถสาธารณะ ที่วัดมีลานจอดรถกว้างขวาง ที่สำคัญบางขุนนนท์ยังเป็นย่านที่มีอาหารหลากหลายชนิดให้เลือกซื้อเลือกทานอีกด้วย
เดินทางไปกันต่อที่...
วัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร
หลังจากที่เราไปเที่ยวชมวัดในละแวกคลองบางกอกน้อยที่เกี่ยวข้องกับกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรและสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแล้ว คราวนี้เราจะมาลองเที่ยวชมวัดในละแวกคลองบางกอกใหญ่ซึ่งเป็นคลองรอบกรุงธนบุรีเช่นเดียวกับคลองบางกอกน้อยกันดูบ้าง เราเริ่มต้นกันที่วัดที่เรียกว่าเป็นวัดไม่แตกต่างจากวัดอรุณราชวรารามฯ กัน ซึ่งวัดนี้ยังเป็นวัดที่สำคัญในปัจจุบันวัดนี้ก็คือ "วัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร"
![]() |
พระอุโบสถวัดโมลีโลกยาราม |
วัดโมลีฯ จัดเป็นวัดโบราณที่สร้างขึ้นมาในสมัยอยุธยา ซึ่งแต่เดิมวัดแห่งนี้มีชื่อเรียกว่า "วัดท้ายตลาด" เนื่องจากเป็นวัดที่ตั้งอยู่ต่อจากตลาดเมืองกรุงธนบุรี โดยเชื่อว่าบริเวณแม่น้ำพระยาในปัจจุบัน แต่เดิมเป็นตลาดเมืองกรุงธนบุรี แต่เนื่องจากในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (พ.ศ. 2077-2089) ทรงมีพระราชดำริให้ขุดคลองลัดขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อการสัญจรทางน้ำในการสงคราม และการค้าขายทั้งในและนอกราชอาณาจักร เมื่อกาลเวลาผ่านมาเนิ่นนานคลองลัดจึงมีสภาพเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมก็กลายสภาพเป็นคลองบางกอกน้อย, คลองบางกอกใหญ่และคลองชักพระ
![]() |
พระประธานในพระอุโบสถ |
เมื่อครั้งสถาปนากรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรเป็นราชธานีแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระราชดำริในการขยายเขตพระราชฐานให้กว้างขวางขึ้น ทำให้มีวัดในเขตพระราชฐานถึง 2 วัดด้วยกัน คือวัดแจ้งหรือวัดอรุณราชวรารามฯ และวัดท้ายตลาด ซึ่งในเวลาต่อมาก็กลายเป็นพระอารามในเขตพระราชฐานดังเช่นวัดพระศรีสรรเพชญ์ในสมัยอยุธยา และวัดพระศรีรัตนศาสดารามในสมัยรัตนโกสินทร์
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ทั้งวัดท้ายตลาดและวัดแจ้งโดยให้มีพระสงฆ์สามารถเข้ามาจำพรรษาในวัดทั้ง 2 แห่งได้ เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงขนานนามวัดใหม่ว่า "วัดพุทไธสวรรย์" หรือ "วัดพุทไธสวรรยาวาศวรวิหาร"
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ทั้งวัดท้ายตลาดและวัดแจ้งโดยให้มีพระสงฆ์สามารถเข้ามาจำพรรษาในวัดทั้ง 2 แห่งได้ เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงขนานนามวัดใหม่ว่า "วัดพุทไธสวรรย์" หรือ "วัดพุทไธสวรรยาวาศวรวิหาร"
เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชศรัทธาปฏิสังขรณ์ทั้งวัด และทรงขนานนามวัดใหม่ว่า "วัดโมลีโลกย์สุธารามอาวาศวรวิหาร พระอารามหลวง" เรียกสั้นๆ ว่า "วัดโมลีโลกย์สุธาราม" ซึ่งในเวลาต่อมาเหลือเพียงเรียกว่า "วัดโมลีโลกยาราม"
![]() |
อาคารเรียน สำนักจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลี |
ในปัจจุบันยังปรากฎว่าวัดโมลีฯ ได้เป็นสำนักจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลี พูดง่ายๆ ว่าเป็นโรงเรียนสอนพระนั่นเอง นอกจากนี้วัดนี้ยังมีโบราณสถานที่สำคัญคือ "พระวิหารฉางเกลือ"
![]() |
วิหารฉางเกลือ |
โดยพระวิหารนี้สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เมื่อวัดถูกรวมเข้าเป็นเขตพระราชฐานในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงใช้วิหารนี้เป็นที่เก็บเกลือ เนื่องจากเกลือมีความสำคัญมากทั้งในชีวิตประจำวันและในการสงครามถือเป็นหนึ่งในยุทธปัจจัย และเกลือในสมัยก่อนหาไม่ได้ง่ายๆ เหมือนในสมัยนี้ ปัจจุบันภายในวิหารฉางเกลือมีการก่อผนังด้วยอิฐปูนกั้นเป็น 2 ตอน โดยตอนหน้าเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยต่างๆ กว่า 20 องค์ ซึ่งไม่ได้เปิดให้เข้าชม ส่วนตอนหลังมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่นามว่า "พระปรเมศ" สามารถกราบไหว้บูชาได้ตามปกติ
![]() |
ด้านหลังวิหารฉางเกลือ และพระพุทธรูปนาม "พระปรเมศ" |
การเดินทาง
วัดโมลีฯ อยู่ใกล้กับวัดอรุณฯ โดยอยู่ติดกับกองทัพเรือ ซึ่งตัววัดตั้งอยู่ในซอยวังเดิม 6 โดยสามารถเข้าได้ทั้งซอยวังเดิม 6 ซึ่งเป็นซอยที่รถยนต์วิ่งเข้าได้เล็กน้อยแล้วต้องเดินต่อเข้าไปในวัด และเข้าทางซอยบริเวณที่กลับรถใต้สะพานอนุทินสวัสดิ์ โดยภายในวัดมีที่จอดรถจำนวนจำกัด ควรเดินทางด้วยรถสาธารณะจะสะดวกที่สุด
เดินทางไปกันต่อที่...
วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร
สำหรับวัดต่อไปที่จะไปอยู่บริเวณริมคลองบางกอกใหญ่ และอยู่ไม่ห่างจากวัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร ซึ่งวัดแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งวัดที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระราขดำริในการบูรณะปฏิสังขรณ์ โดยให้เป็นวัดในพระบรมราชูปถัมภ์ในสมัยนั้น นั่นก็คือ "วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร"
![]() |
พระอุโบสถ |
วัดหงส์รัตนาราม จัดว่าเป็นวัดโบราณที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา แต่เดิมวัดแห่งนี้มีชื่อว่า "วัดเจ้าสัวหง" ตามชื่อของเศรษฐีชาวจีนผู้สร้างวัด ต่อมาเมื่อครั้งสมัยกรุงธนบุรีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงรับวัดนี้ไว้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์เมื่อปี พ.ศ. 2314 โดยทรงโปรดให้บูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งวัด และยังได้ขยายอาณาเขตวัดให้กว้างขวางขึ้น พร้อมทั้งทรงพระราชทานนามวัดแห่งนี้ใหม่ว่า "วัดหงส์อาวาสวิหาร" ตลอดรัชสมัยของพระองค์ ทรงมักจะเสด็จมานั่งวิปัสสนากรรมฐานในพระอุโบสถ หลังว่างเว้นจากพระราชภารกิจเสมอ จึงนับว่าเป็นวัดที่มีความเจริญรุ่งเรืองและสวยงามวัดหนึ่งในยุคสมัยนั้น
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชการที่ 1 ทรงมีพระราชดำริให้เปลี่ยนชื่อวัดเป็น "วัดหงส์อาวาสบวรวิหาร" ครั้นล่วงเลยมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงมีพระราชดำริให้เปลี่ยนชื่อวัดเป็น "วัดหงส์อาวาสวรวิหาร" เมื่อกาลเวลาผ่านมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงมีพระราชดำริให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ขนานใหญ่ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงได้พระราชทานนามวัดแห่งนี้ใหม่ว่า "วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร" จนถึงปัจจุบัน
เนื่องจากในปัจจุบันวัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหารอยู่ในระหว่างการบูรณะทั้งวัด จึงทำให้สามารถเข้าไปเที่ยวชมได้เพียงบางจุดบางแห่งเท่านั้น ซึ่งเท่าที่พอจะเข้าไปก็คงจะเป็นพระอุโบสถ
![]() |
พระประธานภายในพระอุโบสถ |
การเดินทาง
วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร ตั้งอยู่ในซอยวังเดิม 2 สังเกตได้ว่าซอยทางเข้าวัดหงส์ฯ อยู่ติดกับสถานีตำรวจนครบาลบางกอกใหญ่ โดยภายในวัดมีลานจอดรถกว้างขวางพอสมควรสามารถนำรถยนต์ส่วนตัวมาได้ หรือใช้การเดินทางทางเรือและรถสาธารณะก็สะดวกเช่นกัน
เดินทางไปกันต่อที่...
วัดอินทารามวรวิหาร
เมื่อลัดเลาะตามคลองบางกอกใหญ่ขึ้นมาจะพบว่า มีชุมชนต่างๆ มากมายริมคลองเกิดขึ้นซึ่งมีทั้งชุมชนเก่าแก่และชุมชนใหม่ รวมไปถึงวัดวาอารามมากมาย แต่เป้าหมายของเราคือวัดที่เกี่ยวข้องกับกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรและสมเด็จพระเจ้าตากสินซึ่งจะเป็นวัดไหนไม่ได้นอกจาก "วัดอินทารามวรวิหาร"
![]() |
พระวิหารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช |
วัดอินทารามวรวิหารเดิมมีชื่อเรียกว่า "วัดบางยี่เรือนอก" ซึ่งเป็นวัดโบราณในสมัยอยุธยา ไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นคนสร้างไว้ แต่ปรากฏในพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยาว่าเป็นวัดเล็กๆ และเก่าจนแทบร้าง เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตั้งกรงธนบุรีเป็นราชธานี วัดนี้บังเอิญเป็นที่พอพระราชหฤทัยเมื่อครั้งเสด็จประพาสผ่าน จึงทรงมีพระราชดำริในการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหญ่ทั้งวัด พร้อมทั้งขยายอาณาเขตของวัด แล้วทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ เพื่อใช้เป็นที่ประกอบพระราชกุศลใหญ่ๆ หลายครั้ง
จวบจนกระทั่ง พ.ศ. 2325 เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ขึ้นเถลิงถวัลย์เสวยราชสมบัติเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงให้นำพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาประดิษฐานไว้ที่วัดนี้ และยังได้ทรงรับวัดอินทารามเป็นพระอารามหลวง จนล่วงเลยถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ยังมี พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) เป็นผู้เข้ามาบูรณะปฏิสังขรณ์วัดอินทารามวรวิหารแห่งนี้ หลังจากถูกปล่อยทิ้งให้เก่าเสื่อมสลักหักพังไปเพราะขาดผู้ทำนุบำรุงเป็นเวลานาน หลังจากที่พระยาศรีสหเทพได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดขึ้นมาใหม่ทั้งหมดเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นพระอารามหลวงอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งพระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยพร้อมพระราชทานนามใหม่ให้กับวัดแห่งนี้ว่า "วัดอินทารามวรวิหาร" ด้วยเหตุนี้วัดอิทารามวรวิหารจึงอยู่สืบมาจนถึงปัจจุบันนี้
จุดที่น่าสนใจของวัดนี่อยู่บริเวณด้านหลังของวัดติดกับท่าน้ำริมคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งบริเวณนี้เป็นพื้นที่ของวัดอินทารามฯ แต่ดั้งเดิม โดยมีโบสถ์เก่าซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหมู่พระพุทธรูปจำนวนมาก จุดสำคัญอยู่ที่พระพุทธรูปปางตรัสรู้ที่เป็นพระประธานของโบสถ์เก่านี้ เชื่อกันว่าที่ฐานองค์พระเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรังคารหรือเถ้ากระดูกของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
![]() |
ภายในโบสถ์เก่า |
ส่วนด้านข้างโบสถ์เก่าจะเป็นพระวิหารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งภายในมีหมู่พระพุทธรูปโบราณมากมาย โดยด้านซ้ายเป็นรูปปั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงบำเพ็ญศีล และด้านขวาเป็นพระแท่นบรรทมของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
![]() |
ภายในพระวิหารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ซ้าย) รูปปั้นเสมือนมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงบำเพ็ญศีล (ขวา) พระแท่นบรรทมของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช |
ด้านหน้าพระวิหารฯ ยังมีรูปปั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงม้าพร้อมออกศึก เพื่อให้ประชาชนได้กราบสักการะ ที่สำคัญยังมีคนนิยมนำหญ้ามาถวายม้าทรงอีกด้วย นอกจากนี้ที่ด้านหน้าโบสถ์เก่ายังเป็นที่ประดิษฐาน
พระเจดีย์คู่หนึ่ง ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า "พระเจดีย์กู้ชาติ" โดยเจดีย์
องค์ซ้ายที่มียอดเป็นแบบบัวกลุ่มจะเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ส่วนเจดีย์องค์ขวาที่มียอดเป็นแบบปล้องไฉนจะเป็นที่บรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระอัครมเหสี![]() |
รูปปั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงม้า |
![]() |
พระเจดีย์กู้ชาติ (องค์ซ้าย) เป็นเจดีย์ที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (องค์ขวา) เป็นเจดีย์ที่บรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระอัครมเหสี |
![]() |
พระอุโบสถหลังใหญ่ |
การเดินทาง
สำหรับวัดอินทารามวรวิหารแห่งนี้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย โดยวัดตั้งอยู่ริมถนนเทอดไท เขตธนบุรี สำหรับที่จอดรถทางวัดมีพอสมควร ซึ่งสามารถเดินทางโดยทางเรือหรือรถสาธารณะจะสะดวกมากกว่า
เดินทางไปกันต่อที่...
วัดราชคฤห์วรวิหาร
![]() |
ภายในพระวิหารใหญ่ |
วัดราชคฤห์วรวิหารแห่งนี้้เป็นวัดโบราณที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา โดยแต่เดิมวัดแห่งนี้มีชื่อว่า "วัดวังน้ำวน" นั่นเป็นเพราะบริเวณที่ตั้งของวัดตั้งอยู่ติดคลองถึง 3 สายด้วยกัน ทั้งคลองบางกอกใหญ่, คลองบางน้ำชน และคลองท่าพระ เมื่อเวลาน้ำทะเลหนุนน้ำเค็มก็จะไหลทะลักเข้ามาตามคลอง เมื่อน้ำจืดและน้ำเค็มไหลมาชนกัน ทำให้น้ำเกิดวังน้ำวนขึ้นบริเวณที่วัดตั้งอยู่ ชาวบ้านจึงเรียกวัดแห่งนี้ว่าวัดวังน้ำวน
สำหรับวัดแห่งนี้สร้างขึ้นโดยชาวมอญที่ได้อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารและสร้างบ้านเรือนอาศัยอยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ และบริเวณดังกล่าวยังเป็นชัยภูมิของทหารไทยในการซุ่มยิงเรือข้าศึก จึงเรียกบริเวณแถบนี้ว่า "ตำบลบังยิงเรือ" ซึ่งต่อมาเพี้ยนชื่อมาเป็น "บางยี่เรือ" ในปัจจุบัน ทำให้วัดวังน้ำวนชาวบ้านมักเรียกว่า "วัดบางยี่เรือมอญ" หรือ "วัดมอญ"
ในเวลาต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีพระราชกระแสรับสั่งให้ทหารหาญอันมีพระยาพิชัยดาบหัก ผู้เลื่องชื่อดักซุ่มโจมตีทหารพม่า ซึ่งพระยาพิชัยดาบหักได้เลือกวัดมอญแห่งนี้เป็นที่ดักซุ่มโจมตี โดยยิงปืนใส่ทหารพม่าที่มาจอดเรืออยู่ที่วังน้ำวน ต่อเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตั้งกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรเป็นราชธานี พระองค์จึงมีพระราชดำริในการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ โดยมอบหมายให้พระยาสีหราชเดโช (พระยาพิชัยดาบหัก) เป็นผู้ควบคุมดูแลการบูรณะปฏิสังขรณ์ โดยมีการสร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุที่นำมาจากกรุงราชคฤห์ ประเทศอินเดีย พร้อมกันนี้ชาวบ้านจึงเรียกชื่อวัดแห่งนี้ใหม่ว่า "วัดบางยี่เรือใน"
สำหรับที่มีการแบ่งเป็นวัดบางยี่เรือใน (วัดราชคฤห์วรวิหาร) และวัดบางยี่เรือนอก (วัดอินทารามวรวิหาร) นั่นเป็นเพราะเมื่อล่องเรือจากกรุงศีอยุธยาตามแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม ก่อนขุดคลองลัดจะถึงวัดบางยี่เรือในก่อน โดยในสมัยก่อนจะเรียกวัดที่อยู่ใกล้เมืองว่า "วัดใน" และวัดที่อยู่ไกลออกไปว่า "วัดนอก"
![]() |
บริเวณพระอุโบสถวัดราชคฤห์วรวิหาร |
ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสวรรคต พระยาสีหราชเดโช (พระยาพิชัยดาบหัก) ได้สิ้นชีวิตลงตามสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเพื่อตามเสด็จ โดยมีการนำอัฐิของพระยาสีหราชเดโช (พระยาพิชัยดาบหัก) มาบรรจุวัดที่วัดแห่งนี้
![]() |
เจดีย์บรรจุอัฐิพระยาสีหราชเดโช (พระยาพิชัยดาบหัก) และหมื่นหาญณรงค์ |
![]() |
เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจากกรุงราชคฤห์ ประเทศอินเดีย |
สำหรับพระอุโบสถนั่นจะเปิดเฉพาะวันหยุดและวันสำคัญ นอกจากนี้ที่วัดยังมีพระวิหารใหญ่ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปอายุกว่า 300 ปี และที่วัดนี้ยังเป็นที่ตั้งของเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจากรุงราชคฤห์ ประเทศอินเดียและที่อยู่คู่กันคือเจดีย์บรรจุอัฐิของพระยาสีหราชเดโช (พระยาพิชัยดาบหัก) และอัฐิของหมื่นหาญณรงค์ทหารคนสนิทของพระยาพิชัยดาบหัก
การเดินทาง
วัดราชคฤห์วรวิหารอยู่ไม่ไกลจากวัดอินทารามวรวิหาร สามารถเดินเท้าจากวัดอินฯ ได้ในระยะเวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง หรือสามารถเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว โดยวัดตั้งอยู่ริมถนนเทอดไทเช่นเดียวกับวัดอินฯ ซึ่งที่ีวัดนี้มีการจัดเก็บค่าบริการจอดรถด้วย ซึ่งสามารถจอดรถได้มาก ด้านหลังติดคลองบางกอกใหญ่สามารถทำบุญให้อาหารปลาได้ และสามารถเดินทางโดยทางเรือหรือรถสาธารณะได้ด้วยเช่นกัน
เดินทางไปกันต่อที่...
วัดจันทารามวรวิหาร
หมดกันไปแล้วกับทริป 9 วัดสำคัญของกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร ราชธานีเก่ากลางเมืองหลวงปัจจุบัน แต่ขอแถมอีกวัดหนึ่งซึ่งวัดนี้ถือเป็นวัด 3 พี่น้องของวัดอินทารามวรวิหารและวัดราชคฤห์วรวิหาร และถือว่าเป็นวัดเก่าแก่ร่วมสมัยกับวัดทั้ง 2 แห่ง โดยวัดแห่งนี้มีชื่อว่า "วัดจันทารามวรวิหาร"
วัดจันทารามวรวิหารจัดเป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่ง โดยวัดแห่งนี้สร้างขึ้นมาใกล้เคียงกับวัดอินทารามฯ และวัดราชคฤห์ฯ แต่เดิมวัดแห่งนี้มีชื่อว่า "วัดบางยี่เรือกลาง" หรือ "วัดกลาง" นั่นเป็นเพราะอยู่กลางระหว่างวัด 2 วัด คือ วัดบางยี่เรือใน (วัดราชคฤห์วรวิหาร) และวัดบางยี่เรือนอก (วัดอินทารามวรวิหาร)
![]() |
พระอุโบสถและพระวิหารวัดจันทารามวรวิหาร |
จากหลักฐานเท่าที่มีอยู่พบว่า วัดบางยี่เรือกลางมีอายุยาวนานกว่า 100 ปี ซึ่งแต่เดิมไม่ปรากฎชื่อวัดนี้ แต่เริ่มเป็นที่รู้จักในชื่อวัดบางยี่เรือกลางในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โดยเท่าที่ปรากฎข้อมูลพบว่า พระยาสุรเสนา (ขุนเณร) เป็นผู้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ จากนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์อีกครั้งแล้วได้พระราชทานนามใหม่ว่า "วัดจันทารามวรวิหาร" แต่ชาวบ้านนิยมเรียก "วัดกลาง" มาจนถึงปัจจุบัน
![]() |
ตลาดวัดกลางอยู่ด้านหลังวัดจันทารามวรวิหาร |
ปัจจุบันวัดแห่งนี้มีขนาดเล็กและอยู่ท่ามกลางชุมชน โดยพระอุโบสถจะเปิดให้เข้าเฉพาะวันหยุดและวันสำคัญ นอกจากนี้ด้นาหลังของวัดบริเวณติดริมคลองบางกอกใหญ่ยังเป็นตลาดสดขนาดใหญ่มีชื่อว่า "ตลาดวัดกลาง"
![]() |
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ |
ในความเป็นจริงแล้วกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรยังมีวัดสำคัญอีกมากมาย แต่สำหรับ 9 วัดที่แนะนำให้ไปเที่ยวรับบุญในครั้งนี้ ถือเป็นวัดที่เกี่ยวข้องของกับกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรเมื่อครั้งยังเป็นราชธานี และที่สำคัญยังเป็นวัดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผู้กอบกู้เอกราชให้กับชาติไทย
![]() |
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น